วันอาทิตย์ที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2551

เรียนคอมพิวเตอร์แล้วได้อะไรบ้าง

1. นำข้อมูลที่ต้องการมาใช้ในการเรียนรู้
2. สามารถแลกเปลี่ยนข้อความรู้ ด้วยการสนทนา
3. เสริมการเรียนรู้เรื่องต่างๆที่น่าสนใจ
4. การสร้างโปรแกรม
5. เป็นเครื่องมือช่วย ค้นคว้าหารความรู้ ในรูปแบบต่างๆได้ดี
6. การสร้างสัมพันธ์ภาพด้านการเรียนรู้ ทางพุทธิปัญญา การคิดเลข
7. ใช้เป็นเครื่องมือสื่อการฝึกความคิดสร้างสรรค์
8. ช่วยให้มือและตาได้สัมพันธ์กัน
9. เป็นเครื่องมือช่วยสร้างหลักสูตรและกิจกรรม
10.ได้ค้นคว้าคำตอบด้วยความสนุกสนาน
11. การสร้างตาราง การคิดร้อยละ

งานวิจัยที่ศึกษา การประเมินการใช้หลักสูตรท้องถิ่นโรงเรียนบ้านควนประชาสรรค์

ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา

กระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดกรอบ แนวคิด และหลักการปฏิบัติตามกรอบแนวคิด แห่งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 (กระทรวงศึกษาธิการ. 2544 : 3) ไว้ดังนี้
1. เน้นการพัฒนาคนไทยให้มีศักยภาพสูงขึ้นเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์มั้งร่างกาย จิตใจ สติ ปัญญา ความรู้ คุณธรรม วัฒนธรรมในการดำรงชีวิต และสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข
2. การจัดการศึกษาของไทยเป็นการศึกษาตลอดชีวิตเปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการพัฒนาการศึกษา และให้มีการพัฒนาการเรียนรู้ตลอดชีวิต
3. การจัดการศึกษาด้านนโยบายมีความหลากหลายในทางปฏิบัติ มีการกระจายอำนาจ และมีมาตรฐานคุณภาพการศึกษาสูงขึ้น
4. ครู อาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษาเป็นครู อาจารย์ และบุคลากรมืออาชีพ
5. มีการระดมสรรพกำลังเพื่อการจัดการศึกษา
6. บุคคล ครอบครัว ชุมชน องค์กรชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและสถาบันต่าง ๆ มีส่วนร่วมในการจัดการศึกษามากขึ้น
7. จัดการศึกษาอย่างหลากหลาย มีการใช้สื่อเทคโนโลยี และนวัตกรรมทางการศึกษาอย่างเหมาะสม
พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 7 ซึ่งระบุว่า “ในกระบวน การเรียนรู้ต้องมุ่งปลูกฝังจิตสำนึกที่ถูกต้องเกี่ยวกับการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รู้จักรักษาและส่งเสริมสิทธิ หน้าที่ เสรีภาพ ความเคารพกฎหมาย ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มีความภาคภูมิใจในความเป็นไทย รู้จักรักษาผลประโยชน์ของส่วนรวมและประเทศชาติ รวมทั้งส่งเสริมศาสนา ศิลปวัฒนธรรมของชาติ การกีฬา ภูมิปัญญาท้องถิ่น ภูมิปัญญาไทย และความรู้อันเป็นสากล ตลอดจนอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีความสามารถในการประกอบอาชีพ รู้จักพึ่งตนเอง มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ใฝ่รู้ และเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างต่อเนื่อง” ซึ่งการที่นักเรียนมีความสามารถในการประกอบอาชีพ รู้จักพึ่งตนเอง มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ใฝ่รู้ และเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างต่อเนื่อง ย่อมเกิดมาจากกระบวนการเรียนรู้ที่โรงเรียนและนำความรู้ไปปฏิบัติจริง
ด้วยตนเอง
มาตรา 27 ให้คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานกำหนดหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อความเป็นไทย ความเป็นพลเมืองดีของชาติ การดำรงชีวิต และการประกอบอาชีพ ตลอดจนเพื่อการศึกษาต่อ ให้สถานศึกษาขั้นพื้นฐานมีหน้าที่จัดทำสาระของหลักสูตร ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสภาพปัญหาในชุมชนและสังคม ภูมิปัญญาท้องถิ่น คุณลักษณะอันพึงประสงค์ เพื่อเป็นสมาชิกที่ดีของครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติ (กระทรวงศึกษาธิการ. 2546 : 3)
พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2546 มาตรา 35 ระบุไว้ว่า สถานศึกษาที่จัดการศึกษาขั้นพื้นฐานเฉพาะที่เป็นโรงเรียนนิติบุคคล และมาตรา 37 ให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเพื่อทำหน้าที่ในการดำเนินการให้เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการฯ และให้มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการศึกษาตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายอื่นและมีอำนาจหน้าที่ (กระทรวงศึกษาธิการ. 2546 : 22) ดังนี้
1. อำนาจหน้าที่ในการบริหารและจัดการศึกษาและพัฒนาสาระของหลักสูตรการศึกษาให้สอดคล้องกับหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
2. อำนาจหน้าที่ในการพัฒนางานด้านวิชาการ และจัดให้มีระบบประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาร่วมกับสถานศึกษา
ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยคณะกรรมการการบริหารหลักสูตรและงานวิชาการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2544 ข้อ 5 ระบุว่าให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า “คณะกรรมการการบริหารหลักสูตรและงานวิชาการสถานศึกษา” อยู่ภายใต้คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และ ข้อ 6 ให้คณะกรรมการมีหน้าที่ดังต่อไปนี้
1. วางแผนการดำเนินงานวิชาการ กำหนดสาระรายละเอียดของหลักสูตรระดับสถาน ศึกษา และแนวการจัดสัดส่วนสาระการเรียนรู้และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนของสถานศึกษาให้สอด คล้องกับหลักสูตรสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน สภาพเศรษฐกิจ สังคม ศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น
จากบทบัญญัติพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ และระเบียบกระทรวงศึกษาดังกล่าว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดการศึกษา นอกจากต้องจัดการศึกษาให้ผู้เรียนเกิดความรู้คู่คุณธรรมแล้ว ยังต้องจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับสภาพของท้องถิ่น เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ชีวิตจริงของตนเองในท้องถิ่น เรียนรู้สภาพภูมิศาสตร์ ประวัติความเป็นมา สภาพเศรษฐกิจ สังคม การดำรงชีวิต ภูมิปัญญา ศิลปะ วัฒนธรรม ตลอดจนให้มีความรักความผูกพัน และมีภาคภูมิใจในท้องถิ่นของตนเอง รวมทั้งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการประกอบอาชีพและการดำรงชีวิตในสังคม สถานศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงต้องตระหนักถึงความสำคัญดังกล่าว รวมทั้งจะต้องดำเนินการส่งเสริมสนับสนุนให้ครูผู้สอนสามารถนำสาระการเรียนรู้ท้องถิ่นไปจัดกิจกรรมการเรียนการสอนให้ผู้เรียนเกิดผลสัมฤทธิ์ผลตามมาตรฐานการเรียนรู้
ในปีการศึกษา 2550 โรงเรียนบ้านควนประชาสรรค์ได้ปรับปรุงหลักสูตรสถานศึกษาของโรงเรียน ครั้งที่ 1 ขึ้นและทางโรงเรียนได้จัดทำหลักสูตรท้องถิ่นของโรงเรียนขึ้น ซึ่งรูปแบบการจัดนั้นสอดคล้องกับการจัดหลักสูตรกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนตามที่หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานกำหนด โดยเป็นกิจกรรมที่จัดให้ผู้เรียนได้พัฒนาความสามารถของตนเองตามศักยภาพ มุ่งเน้นเพิ่มเติมจากกิจกรรมที่ได้จัดให้เรียนรู้ตามกลุ่มสาระการเรียนรู้ทั้ง 8 กลุ่ม การเข้าร่วมและปฏิบัติกิจกรรมที่เหมาะสมร่วมกับผู้อื่นอย่างมีความสุขกับกิจกรรมที่เลือกตนเองตามความถนัดและความสนใจอย่างแท้จริง การพัฒนาที่สำคัญ ได้แก่ การพัฒนาองค์รวมของความเป็นมนุษย์ให้ครบทุกด้าน ทั้งร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ และสังคม โดยอาจจัดเป็นแนวทางหนึ่งที่สนองนโยบายในการสร้างเยาวชนของชาติให้เป็นผู้มีศีลธรรม จริยธรรม มีระเบียบวินัย และมีคุณภาพเพื่อพัฒนาองค์รวมของความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ปลูกฝังและสร้างจิตสำนึกของการทำประโยชน์เพื่อสังคม ซึ่งสถานศึกษาต้องดำเนินการอย่างมีเป้าหมาย มีรูปแบบและวิธีการที่เหมาะสม กิจกรรมพัฒนาผู้เรียนแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ 1) กิจกรรมแนะแนว 2) กิจกรรมนักเรียน ซึ่งในกิจกรรมนักเรียนก็สามารถแบ่งออกเป็นกิจกรรมลูกเสือ-เนตรนารี ยุวกาชาด บำเพ็ญประโยชน์ และกิจกรรมชุมนุม ชมรม (กระทรวงศึกษาธิการ. 2544 : 6)
โรงเรียนเป็นสถาบันที่ต้องเตรียมคนให้ออกไปสู่ตลาดแรงงานและต้องเตรียมการให้สอดคล้องกับความต้องการของท้องถิ่น เพื่อเป็นข้อมูลในการตัดสินว่าชอบอาชีพอะไร และได้ทดลองฝึกทำปฏิบัติจริงเพื่อเป็นพื้นฐานในการประกอบอาชีพตามที่ท้องถิ่นต้องการ ปัญหาที่สำคัญในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนคือนโยบายการจัดการศึกษาจะเน้นผลสัมฤทธิ์ทางพุทธิพิสัยมากกว่าจิตพิสัยและทักษะพิสัยและครูขาดความรู้เกี่ยวกับหลักสูตรและวิชาชีพที่อยู่ในท้องถิ่น ซึ่งปัญหาเหล่านี้ทำให้นักเรียนขาดความรู้ความเข้าใจในหลักการของอาชีพ การจัดการศึกษาจึงขาดประสิทธิภาพและก่อให้เกิดปัญหาการว่างงานตามมา โรงเรียนบ้านควนประชาสรรค์ ได้จัดกิจกรรมชมรมตามความถนัดและความสนใจของผู้เรียนออกเป็น 3 ชมรม (การจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนโรงเรียนบ้านควนประชาสรรค์ : 3) คือ
1. ชมรมวิชาการ แบ่งออกเป็น 5 กลุ่มย่อยดังนี้ คือ ภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคมศึกษา และภาษาอังกฤษ
2. ชมรมงานอาชีพ แบ่งออกเป็น 4 กลุ่มย่อย คือ นักธุรกิจรุ่นเยาว์ งานเกษตร งานช่าง และงานบ้าน
3. ชมรมกีฬาและนันทนาการ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มย่อย คือ ศิลปะ ดนตรี และกีฬา
หลักสูตรท้องถิ่นของโรงเรียนบ้านควนประชาสรรค์ ได้จัดทำขึ้นโดยคณะกรรมการคณะหนึ่งซึงรายละเอียดเนื้อหาสาระของหลักสูตรนั้นแบ่งออกเป็น 3 ส่วนใหญ่ ๆ คือ 1) พืชสมุนไพร 2) ปลาดุก 3) ข้าวกล้อง โดยใช้เนื้อหาสาระหลักสูตรมาบูรณาการในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน
การจัดหลักสูตรการศึกษาในปัจจุบันเปิดโอกาสให้สถานศึกษาสามารถพัฒนาหลักสูตรให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียนและสภาพของท้องถิ่น อันจะทำให้ผู้เรียนสามารถนำความรู้และประสบการณ์ในชั้นเรียนไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ ดังนั้น ผู้วิจัยในฐานะผู้รับผิดชอบงานวิชาการของโรงเรียน โครงการการจัดทำหลักสูตรท้องถิ่นของโรงเรียนบ้านควนประชาสรรค์ จึงมีความสนใจที่จะประเมินการใช้หลักสูตรท้องถิ่นของโรงเรียนบ้านควนประชาสรรค์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานครศรีธรรมราช เขต 2

วัตถุประสงค์ของการวิจัย

1. เพื่อประเมินการใช้หลักสูตรท้องถิ่นโรงเรียนบ้านควนประชาสรรค์โดยประยุกต์ใช้แบบจำลองของซิป (CIPP Model) ในด้านบริบท ปัจจัยนำเข้า กระบวนการ และผลผลิต
2. เพื่อศึกษาปัญหา และข้อเสนอแนะแนวทางแก้ไขการใช้หลักสูตรท้องถิ่นของโรงเรียนบ้านควนประชาสรรค์

ประโยชน์ของการวิจัย

1. ทำให้ทราบถึงปัญหา ข้อบกพร่อง และจุดเด่น จุดด้อยของหลักสูตรท้องถิ่น เพื่อนำไปปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นของโรงเรียนต่อไป
2. สามารถนำผลการวิจัยไปเผยแพร่แก่ชุมชนเพื่อเป็นแนวทางในการเลี้ยงปลาดุกต่อไป

ขอบเขตของการวิจัย

1. ประชากรที่ใช้ในการวิจัย
ประชากรที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ เป็นครู คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน นักเรียน และผู้ปกครองนักเรียนโรงเรียนบ้านควนประชาสรรค์ที่กำลังศึกษาในระดับ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ปีการศึกษา 2550 จำนวน 630 คน
2. กลุ่มตัวอย่าง
กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้เป็น ครู คณะกรรมการสถานศึกษา นักเรียนและผู้ปกครองนักเรียนโรงเรียนบ้านควนประชาสรรค์ ที่ได้มาโดยการสุ่มแบบสัดส่วน จำนวน 150 คน
3. ระยะเวลาที่ใช้ในการวิจัย
ระยะเวลาที่ใช้ในการวิจัย คือ ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2550 (พฤศจิกายน 2550-กุมภาพันธ์ 2551)

ตัวแปรที่ใช้ในการวิจัย

3.1 ตัวแปรต้น คือ บริบทเบื้องต้น ปัจจัยสภาพแวดล้อม และกระบวนการ
3.2 ตัวแปรตาม คือ ผลผลิตเป็นความคิดเห็นที่มีต่อการใช้หลักสูตรท้องถิ่นของครู คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน นักเรียนและผู้ปกครองนักเรียนในการประเมินการใช้หลักสูตรท้องถิ่น
ผู้วิจัยได้นำกรอบความคิดของสตัฟเฟิลบีม (Stufflebeam) โดยใช้รูปแบบ การประเมินแบบจำลองซิป (CIPP Evaluation Model) อีกทั้งนำกรอบความคิดของสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานกระทรวงศึกษาธิการ มาใช้ในการวิจัย ดังนี้ คือการประเมินบริบทเบื้องต้น (Context Evaluation) การประเมินปัจจัยและสภาพแวดล้อมภายในโรงเรียน (Input Evaluation) การประเมินกระบวนการ (Process Evaluation)
การประเมินผลผลิต (Product Evaluation)

นิยามคำศัพท์เฉพาะ

1. หลักสูตรท้องถิ่น หมายถึง โครงการที่ประมวลความรู้ และประสบการณ์ทั้งหลายเกี่ยวกับกับเลี้ยงปลาดุก ที่จัดให้กับผู้เรียนตามความมุ่งหมายที่กำหนดไว้ คือ มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการเลี้ยงปลาดุก มีทักษะในการเลี้ยงปลาดุก มีนิสัยรักการทำงาน สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้และมีเจตคติที่ดีต่อการประกอบอาชีพเลี้ยงปลาดุก